การเงินคนจน หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ The Poor and Their Money เขียนโดยคุณ Stuart Rutherford และคุณ Sukhwinder Arora เวอร์ชันที่ผมได้มาเป็นเสรอ์ชันแปลโดยสำนักพิมพ์ Salt ครับ
ก็ได้มาพร้อมกับหนังสือคล้ายๆกันอีกเล่มชื่อเศรษฐศาสตร์คนจน ไปซื้อมาจากงานหนังสืออยู่สามย่านมิตรทาวน์ช่วงปลายปีที่แล้ว ถ้าใครอยากอ่านรีวิวเล่มก่อนสามารถคลิกไปดูได้ครับ
การเงินคนจนเป็นหนังสือเล่มเล็กๆเล่มนึงที่เล่าถึงเรื่องของการจัดการเงินในรูปแบบต่างๆของคนที่ไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตมากนัก การออมเงิน การกู้เงิน รวมไปถึงเครื่องมือทางการเงินแบบต่างๆที่เราอาจจะไม่ได้เห็นหรือได้ยินบ่อยนัก
ถือได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อธิบายได้เห็นภาพ และเปิดโลกเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินของผมพอสมควรเลยครับ
หนังสือเล่มนี้มีการแบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 บทดังนี้
- ความจำเป็นของการออม บทนี้เริ่มเกริ่นถึงรูปแบบการใช้เงินที่อยู่ในชีวิตของคนจน ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงการทำให้การออม เกริ่นเรื่องเครื่องมือทางการเงินต่างๆที่ผู้คนสามารถนำมาช่วยในการออมได้ และเล่าถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องออม
- การออม 3 วิธี บทนี้จะเล่าถึงนิยามของการออมในมุมมองของผู้เขียน โดยผู้เขียนอธิบายไว้ว่าการออมจะมีอยู่ 3 แบบหลักๆคือ ออมแบบสะสม ออมแบบผ่อนส่ง และ ออมแบบระหว่างทาง บทนี้ก็จะเหมือนเป็นการ Categorized เครื่องมือทางการเงินออกเป็นกลุ่มก่อนที่จะเจาะลึกไปที่เครื่องมือแต่ละอย่าง
- กลไกนอกระบบ: วงแชร์ และกลุ่มออมทรัพย์ สำหรับบทนี้ก็ตามชื่อบทเลยครับ มีการเล่าถึงกลไกต่างๆที่นำมาใช้ช่วยในการออม ทั้งกลไกแบบวงแชร์ หรือกลุ่มออมทรัพย์
- บริการนอกระบบ: ผู้จัดการและผู้ให้บริการ บทนี้จะพูดถึงรายละเอียกการจัดการ ผู้ให้บริการเครื่องมือทางการเงินต่างๆ
- ต้อนรับพันธมิตรใหม่ๆ บทนี้ก็จะเล่าถึงกระแสของ Microfinance ที่ตื่นตัวขึ้นใน 10–20 ปีหลังนี้ครับ เล่าไปถึงองค์กรต่างๆทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือองค์กรแสวงหาผลกำไร หรือแม้แต่ธนาคารบางแห่งที่ลงมาอยู่ในตลาด Microfinance เพื่อที่จะสร้างผลิตภัณฑ์อะไรซักอย่างขึ้น ทั้งเพื่อผลกำไรและเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจน
- ชีวิตทางการเงิน ก็จะเป็นบทสุดท้าย ที่สรุปเรื่องต่างๆที่มีการเล่ามาในหนังสือ และอื่นๆ
ก็นับว่าหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจและน่าอ่านพอสมควรเลยครับ สิ่งที่ผมชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้คือการที่ผู้เขียนนำเอาเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ที่สามารถใช้ได้ทั้งกู้เงินและออมเงินมาเล่าให้ฟัง ซึ่งแต่ละวิธีก็มีความน่าสนใจมากๆ ทั้งในแง่ของไอเดียและในแง่ของความน่าเชื่อถือของมัน